“คนไทยมีปัญหาพระราชาก็ทรงคิดหาทางแก้ไขโดยศาสตร์พระราชา”
มีคำกล่าวถึง “ศาสตร์พระราชา” มานานหลายปีที่ผ่านมา เช่น ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน, ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน, ศาสตร์พระราชาจากภูผาสู่มหานที ซึ่งในต่างประเทศต่างทราบว่าเป็นแนวคิดตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
ในความคิดแวบหนึ่งคนไทยนี่ช่างโชคดี ที่เจอปัญหาอะไร พระราชาของเราก็หาทางแก้ไขไว้ให้ มีคำถามว่า “คนไทยรู้จักศาสตร์ของพระราชาดีแค่ไหน และเคยนำไปปฏิบัติกันหรือยัง” มาเริ่มต้นที่ตัวเรา และต่อไปก็คนรอบข้าง แล้วขยายออกวงกลางไปสู่สังคมและประเทศชาติในที่สุด
ตัวอย่างปัญหาเช่น ทุกครั้งที่คนไทยมีปัญหา น้ำเสีย น้ำท่วมดินถล่ม ไฟป่า พระองค์ท่านก็จะคิดศาสตร์มาแก้ไข เมื่อประเทศไทยฝนแล้งพระองค์ท่านก็มีศาสตร์ในการทำฝนเทียม หรือ ฝนหลวง ที่เรียกว่า “ฟากฟ้าลงภูผา ผ่านทุ่งนาสู่มหานที” เมื่อประชาชนชาวกทม.น้ำท่วม พระองค์ท่านก็คิดศาสตร์ที่ชื่อว่าโครงการแก้มลิง ที่คลองมักกะสัน เพื่อแก้ไขปัญหา โครงการขุดคลองลัดโพธิ์ หรือ การแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ใช้ผักตบชวาที่เรียกว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม” (The use of vice to defeat vice) และก็มีกังหันชัยพัฒนา เติมออกซิเจน
มีคำถามหนึ่งว่า “ทำไมคนไทยรักพระราชาของเขาได้มากขนาดยอมตายแทนได้” คำตอบก็คือพระราชา ทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์ และทำเพื่อบำบัดความทุกข์ทุกอย่างของประชาชนตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ กว่า 70 ปี จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องศึกษาศาสตร์แห่งพระราชา และช่วยกันดำเนินการตามรอยพระบาท หรือ “การเดินตามรอยเท้าพ่อ” ที่ต้องศึกษาแนวทาง ที่พระองค์ท่านได้ทรงงานและวางแนวทางหาหนทางแก้ไขปัญหาของประชาชนไว้ ที่ทุกคนรู้จักกันในนาม “ศาสตร์พระราชา” หรือ “ศาสตร์แห่งพระราชา”
ในแง่แนวคิด ปรัชญา และการปฏิบัตินั้น “การรักพระราชาของเรา” นั้นก็คือการปฏิบัติบูชาตามคำสอน หากคนไทยทุกคน ช่วยกันทำ กันปฏิบัติ และขยายผลการปฏิบัติให้กว้างขวาง จะยิ่งเกิดผลดีในการปฏิบัติ “เชิงสัญลักษณ์” มากขึ้น ที่ปกติเหล่าบรรดาข้าราชการและพสกนิกรทั่วไปทุกคนก็ได้ทำกันอยู่แล้ว เช่น คำขวัญ สโลแกน ที่เขียนขึ้นป้าย ติดเสื้อ ติดรถ ต่าง ๆ อาทิ “เราเกิด ในรัชกาลที่ 9” ซึ่งเรียกรวมๆกันว่า “ปฏิบัติบูชา” ช่วยกันทำ สังคมก็จะดียิ่งขึ้น การเขียนให้ดูสวยดูดีดูเท่ห์ แต่ไม่ช่วยกันทำ ช่วยกันปฏิบัติ ก็จะไม่เรียกว่า “รักพระองค์ท่านอย่างแท้จริง”
การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่คนไทยรู้จัก “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” พระราชทานเป็นแนวทางในการนำพาประเทศไทยให้ข้ามพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” หรือ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “ฟองสบู่แตก” จนหลายภาคส่วนน้อมนำหลักปรัชญานี้ไปเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยอาจารย์ยักษ์ หรือ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้เด็ดเดี่ยวตามรอยในหลวงให้เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชีวิต ได้ศึกษาและเขียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาตลอดตั้งแต่ปี 2540 จวบจนทุกวันนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในภาคเกษตรกรรม ธุรกิจ การจัดการทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และสถานศึกษา จนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดย “มูลนิธิมั่นพัฒนา” ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2557
ศาสตร์พระราชา...ศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระราชดำรัส เมื่อปี 2554 ว่า “เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ และเป็นเรื่องของจิตใจ”
เมื่อ 28 ตุลาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน” ในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมโลกทั้งในระดับภูมิภาค และ ในระดับโลก เพื่อน้อมนำพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชที่ให้ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ของการพัฒนา มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ประชาชนมีส่วนร่วม และได้ประโยชน์จากการพัฒนาอย่างแท้จริง ให้มีความ อยู่ดี กินดี
รัฐบาล ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เชื่อมโยง “ศาสตร์พระราชา”ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP - Sufficiency Economy Philosophy) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs - Sustainable Development Goals) ประสบความสำเร็จ ในการสร้างความตระหนักและการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่าง ได้แก่ (1) ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เพื่อแก้ปัญหาการขาดน้ำกินและน้ำใช้, การขาดที่ดินทำกิน ซึ่งมีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย (2) ธนาคารอาหารเป็นกิจกรรมจากกองทุนอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ให้เด็กนักเรียนทุกคนนำไปลงทุน เพื่อประกอบอาชีพทำการเกษตรและปศุสัตว์ขนาดเล็ก (3) โรงเรียนพระดาบส จัดให้มีการสอนวิชาชีพ หลักสูตร 1 ปี มุ่งให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง เสริมด้วยทักษะชีวิต ให้สามารถดำรงตน ได้อย่างเหมาะสม (4) กังหันชัยพัฒนา เป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ ลดกลิ่น น้ำไม่เน่าเสีย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้ (5) บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี จำกัด ดำเนินการตามรูปแบบ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” บนกลไก “ประชารัฐ”ที่ไม่มุ่งเน้นผลกำไรจากการประกอบการ
ลองมาดูเนื้อหาโดยสรุปของ “ศาสตร์แห่งพระราชา” ที่สำคัญเหล่านี้กัน อาทิ
โครงการฝนหลวง จากฟากฟ้าลงภูผา ผ่านทุ่งนาสู่มหานที
วิธีทำฝนหลวงมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน คือการดัดแปรสภาพอากาศหรือก้อนเมฆในขณะนั้นเพื่อกระตุ้นให้มวลอากาศ ชื้นไหลพาขึ้นสู่เบื้องบนอันเป็นการชักนำไอน้ำหรืออากาศชื้นเข้าสู่กระบวน การเกิดเมฆ ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน คือการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อทำให้เมฆเจริญขึ้นจนมีขนาดใหญ่หนาแน่นและพร้อมที่จะตกลงมาเป็นฝน ขั้นตอนที่ 3 โจมตีคือการดัดแปรสภาพอากาศที่จะกระตุ้นให้เม็ดละอองเมฆปะทะชนกันแล้วรวมตัว เข้าด้วยกัน จนมีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดแรงไหลพาขึ้นเบื้องบน เพื่อให้เม็ดน้ำ มีขนาดใหญ่ตกลงสู่เบื้องล่างแล้วเกิดเป็นฝนตกลงมาสู่เป้าหมาย
ฝายชะลอความชุ่มชื้น( Check Dam) หรือฝายแม้ว
ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาง่ายในท้องถิ่นเช่นก้อนหินและไม้เพื่อก่อเป็นฝายขวางร่องน้ำหรือห้วยเล็กๆทำหน้าที่กักกระแสน้ำไว้ให้ไหลช้าลงและให้น้ำสามารถซึม ลงใต้ผิวดินสร้างความชุ่มชื้นในบริเวณนั้น อีกทั้งยังช่วยดักตะกอนดินและทราย ไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่าง
แฝก
การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับเพื่อช่วยชะลอความชุ่มชื้นไว้ในดิน โดยรากของหญ้า แฝกจะขยายออกด้านข้างเป็นวงเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 50 เซนติเมตรและจะแทงลงไป เป็นแนวลึกใต้ดิน 1-3 เมตรแล้วสานกันเป็นแนวกำแพงดูดซับความชุ่มชื้นให้แก่ผิวดิน
ทฤษฎีใหม่
เป็นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กบนผิวดินในพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรโดยแบ่ง ที่ดินสำหรับใช้ขุดเป็นสระเก็บน้ำให้สามารถใช้ทำการเกษตรได้ตลอดปีและสามารถ เลี้ยงปลาไปพร้อมๆกันนอกจากนี้บริเวณขอบสระยังสามารถใช้ปลูกพืชผักสวนครัว ได้อีกด้วย
โครงการแก้มลิง
หลักการของโครงการ คือเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองชักน้ำให้ไหลมารวมกันเก็บไว้ ในแหล่งพักน้ำแล้วจึงค่อยทำการระบายลงสู่ทะเลผ่านทางประตูระบายน้ำในช่วงที่ ปริมาณน้ำทะเลลดลง ขณะเดียวกันก็สามารถสูบน้ำออกจากคลองที่เป็นแก้มลิงลงสู่ ทะเลตลอดเวลาเพื่อที่น้ำจากตอนบนจะได้ไหลลงมาได้เรื่อยๆและเมื่อใดก็ตามที่ ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงกว่าระดับน้ำในคลองที่เป็นแก้มลิงก็ให้ปิดประตูระบายน้ำกั้นไม่ให้น้ำทะเลไหลย้อนกลับเข้ามา
การใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย
เป็นการนำน้ำคุณภาพดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งเข้าไปไล่น้ำเสียตามคลองใน เขตกรุงเทพฯและปริมณฑลได้แก่คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์และ คลองบางลำภูเพื่อช่วยลดปัญหา ความเน่าเสียของน้ำในคลองต่างๆคล้ายกับ การ “ชักโครก”คือปิดและเปิดน้ำให้ได้จังหวะตามเวลาน้ำขึ้น-น้ำลงหากน้ำขึ้น สูงก็เปิดประตูน้ำให้น้ำดีเข้าไปไล่น้ำเสียครั้นน้ำทะเลลงก็เปิดประตูถ่ายน้ำเสียออกจากคลองไปด้วย
กังหันน้ำชัยพัฒนา
กังหันชัยพัฒนา หรือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย เป็นกังหันน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ ทำงานโดย การหมุนปั่น เพื่อเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สามารถประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสียจากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจน ให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร ใช้บำบัดน้ำเสียที่เกิดจากชุมชนและอุตสาหกรรมลักษณะเป็นเครื่องกลหมุนช้าแบบทุ่นลอยเพื่อช่วยเติมออกซิเจนที่ผิวน้ำ
การบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ 2 วิธี
วิธีที่ 1 การใช้น้ำหมักชีวภาพ โดยการใช้น้ำหมักชีวภาพปริมาณ 1 ต่อ 500 ส่วนราดลงทั้งในน้ำทิ้งจากครัวเรือน ตลาดสดฟาร์มปศุสัตว์หรือโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย อินทรีย์สารในแหล่ง น้ำนอกจากนี้น้ำหมักชีวภาพยังสามารถนำไปใช้ได้ดีในการปรับสภาพน้ำในบ่อประมงทั้งบ่อเลี้ยงกุ้งและปลาได้เป็นอย่างดี วิธีที่ 2 ลูกระเบิดจุลินทรีย์ เป็นการบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำให้ดีขึ้นด้วยจุลินทรีย์เช่นเดียวกับการใช้น้ำ หมักประกอบด้วยโคลนจากท้องน้ำ 50กิโลกรัม,ร้า 10 กิโลกรัม,ปุ๋ยอินทรีย์เม็ดหรือ ผง 50 กิโลกรัมและน้ำหมักชีวภาพที่หมักจนได้ที่แล้ว 3 เดือนขึ้นไปโดยนำทุกอย่างมาผสมเข้าด้วยกันจนสามารถปั้นเป็นก้อนขนาดเท่าลูกเปตองนำไปผึ่งไว้ในที่ร่ม จนแห้งสามารถนำไปบำบัดน้ำได้โดยใช้ในอัตราส่วน 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ล้านลิตร หรือ 25 กิโลกรัมต่อพื้นที่ไร่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำที่เน่าเสีย
ในบริบทของท้องถิ่นนั้นปัจจุบันได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าว มาปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตาม “แผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น ในด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ” (Local Sufficiency Economy Plan : LSEP) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นทางเดินที่ถูกทางแล้ว เราชาว อปท. มาช่วยกันนำทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมกันหน่อย